ข่าวประชาสัมพันธ์

แยกก่อนทิ้ง เพื่อสิ่งแวดล้อม

เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลบางส่วนจาก หนังสือจับตาทิศทางสุขภาพของคนไทย 2564 หนังสือทิ้งได้ถูกต้อง ช่วยโลกได้ถูกทาง และคู่มือแนะนำการคัดแยกขยะ

ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th สสส. และแฟ้มภาพ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตการณ์สำคัญที่สร้างผลกระทบต่าง ๆ มากมายต่อคนทั่วโลก ปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้น และอาจถูกมองข้ามไป คือ การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะจำนวนมาก โดยเฉพาะขยะพลาสติก ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วง 10 ปี (ระหว่างปีพ.ศ.2552-2561) นอกจากปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นจาก 24.11 ล้านตัน เป็น 27.93 ล้านตัน ปริมาณขยะพลาสติกก็เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ.2561 คิดเป็น 12% ของขยะมูลฝอย หรือประมาณ 2 ล้านตัน โดย 1.2 ล้านตัน เป็นถุงพลาสติก ส่วนที่เหลือเป็นพลาสติกชนิดอื่น ๆ เช่น กล่อง ถาด ขวด ฝาจุก

สำหรับขยะพลาสติก มีเพียง 25% เท่านั้นที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ ที่เหลือ 75% เป็นขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single use plastics) อย่าง ถุงใส่อาหาร ถุงหิ้ว แก้วพลาสติก กล่องพลาสติก กล่องโฟม ฯลฯ แสดงให้เห็นว่า แม้พลาสติกจะมีอายุยาวนาน แต่กลับมีอายุการใช้ที่สั้นมาก โดยถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Asian food boxes in plastic bags delivered to customer at home by delivery man in orange uniform

วิกฤตโควิด-19 ทำให้การใช้งานแอปพลิเคชัน food delivery ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งผลกระทบที่ตามมา ก็คือ ทำให้เกิดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวมากขึ้นด้วย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เคยประเมินว่า ต่อ 1 ยอดการสั่งซื้อ จะมีขยะพลาสติกเฉลี่ย 7 ชิ้น อาทิ กล่องอาหาร ถุงใส่นํ้าจิ้ม ช้อนพลาสติก ส้อมพลาสติก ถุงใส่ช้อนส้อม ถุงนํ้าซุป และถุงพลาสติกหูหิ้ว สำหรับใส่อาหารทั้งหมด

นอกจากนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ยังประเมินว่าวิกฤตโควิด-19 จะทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 15% จากเฉลี่ยวันละ 5,500 ตัน/วัน เป็น 6,300 ตัน/วัน ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงขยะที่เกิดจากหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ที่คาดว่าจะมีอัตราการทิ้งหน้ากากอนามัยราว 1.5-2 ล้านชิ้น/วัน อีกด้วย

คนไทยส่วนใหญ่มักทิ้งขยะอาหารรวมกับขยะทั่วไป ทำให้การคัดแยกขยะก่อนการนำไปรีไซเคิลและการกำจัดเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ขยะพลาสติกปนเปื้อนที่ไม่ถูกแยกตั้งแต่ต้นทาง ส่วนใหญ่กลายเป็นขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดด้วยวิธีฝังกลบหรือถมกลางแจ้ง ซึ่งใช้เวลาย่อยสลายนับร้อยปี ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตามมา

Asian male putting twisted green plastic bottle into recycle bin in park.

การแยกขยะก่อนทิ้งขยะพลาสติกลงถัง จะช่วยง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล คนจำนวนมากไม่แยกขยะ เพราะเชื่อว่าสุดท้ายก็จะถูกนำ ไปทิ้งรวมกันอยู่ดี ทั้ง ๆ ที่หากมีการแยกขยะอย่างเหมาะสม จะทำให้สามารถจัดการขยะได้ง่ายขึ้น เช่น  ขยะพลาสติกที่ไม่มีการปนเปื้อนเศษอาหารเท่านั้น ถึงจะถูกนำไปรีไซเคิล แต่ถ้าปนเปื้อนแล้วจะถูกนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบ

ข้อแนะนำในการแยกขยะ

เราต้องรู้จักประเภทของขยะก่อน เพื่อที่จะสามารถคัดแยกขยะก่อนทิ้งได้ถูกต้อง ซึ่งมีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่ ถังขยะย่อยสลาย ถังขยะทั่วไป  ถังขยะรีไซเคิล และถังขยะอันตราย

1.ถังขยะย่อยสลาย(สีเขียว) – สำหรับขยะที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติในระยะเวลาอันสั้น เช่น เศษอาหาร กิ่งไม้ มูลสัตว์

2.ถังขยะทั่วไป(สีน้ำเงิน) – สำหรับขยะทั่วไป ที่ย่อยสลายได้ยาก นำกลับมาผลิตใหม่ไม่คุ้มทุน และไม่มีพิษ เช่น โฟม ฟอล์ย ถุงพลาสติก ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

3.ถังขยะรีไซเคิล(สีเหลือง) – สำหรับขยะที่นำกลับมาผลิตเพื่อใช้ใหม่ได้อีกครั้ง แม้ขะเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก โลหะ

4. ถังขยะอันตราย (สีแดง) – สำหรับขยะอันตรายที่มีการปนเปื้อนสารเคมี มีอันตรายต่อร่างกาย และสิ่งแวดล้อม โดยการคัดแยก จะต้องระมัดระวังไม่ให้ขยะอันตรายแตกหัก ชำรุด หรือมีสารเคมีรั่วไหลออกมาได้ เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ขวดพลาสติกบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ ยาฆ่าแมลง

ประโยชน์ของการแยกขยะนั้น มีหลายด้าน ทั้งด้านสุขภาพ สามารถลดความเสี่ยงจากสารอันตรายหรือไมโครพลาสติกที่มาจากพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ด้านการเงินจากการแยกขยะรีไซเคิล แล้วนำไปขายแหล่งรับซื้อก็สามารถสร้างรายได้เข้ากระเป๋า รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงสารพิษอันตรายปนเปื้อนตามแหล่งน้ำ และสิ่งแวดล้อมได้

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ประเทศไทยสร้างปริมาณขยะทางทะเล และขยะมูลฝอย 27.4 ล้านตัน ติดอันดับ 6 ของโลก 1 ใน 5 ของปริมาณขยะทั้งหมดอยู่ในเขตกรุงเทพฯ เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ใช้สินค้า/ผลิตภัณฑ์ ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาระดับโลก

“สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายสนับสนุนให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อสร้างปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยหลากหลายวิธี เช่น กองทุนการจัดการขยะเพื่อสวัสดิการชุมชน นวัตกรรมการจัดการขยะในชุมชน รวมทั้งสนับสนุน “แผนงานด้านสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ” ภายใต้แผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ผลักดันข้อเสนอและนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ดร.สุปรีดา กล่าว

เราต่างรู้ดีว่า ”ปัญหาสิ่งแวดล้อม”ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก แต่การคัดแยกขยะก่อนทิ้งลงถัง เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการช่วยสิ่งแวดล้อมที่เริ่มได้จากตัวเราเอง ซึ่งจริงๆ แล้ว การทำเพื่อสิ่งแวดล้อม ก็คือการทำเพื่อตัวของเราเอง หากสิ่งแวดล้อมดี เราก็จะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย รวมทั้งปลอดภัยมากขึ้น เพราะใครๆ ต่างก็อยากอยู่ในบ้านที่สวยงาม และสะอาด ซึ่งเราจะรอให้คนอื่นมาทำให้บ้านเราสะอาดไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มที่เราลงมือทำ ซึ่งเรื่องเล็กๆ ที่เราทำในวันนี้ อาจเป็นหนึ่งในเรื่องดีๆ ที่ช่วยให้วิกฤตการณ์นี้ผ่านพ้นไปได้ง่ายขึ้น


ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.thaihealth.or.th

Show More
Back to top button
Close
Close